คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558

ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้

ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 215 และมาตรา 225 ได้เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้วดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ แม้ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ

 


โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงิน 125,616 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากคดีดังกล่าว

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อระหว่างพิจารณา บริษัทพี เค นอร์ทเทิร์น เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุกคนละ 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงิน 125,616 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1941/2550 คดีหมายเลขแดงที่ 2363/2553 คดีหมายเลขดำที่ 739/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2364/2553 คดีหมายเลขดำที่ 1034/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2365/2553 คดีหมายเลขดำที่ 2940/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2366/2553 คดีหมายเลขดำที่ 2499/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 2367/2553 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนคดีอื่นยังไม่มีคำพิพากษาให้ยกคำขอส่วนนี้

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ร่วมฏีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แต่โจทก์ร่วมร้องทุกข์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงเป็นอันขาดอายุความ โจทก์ร่วมฎีกาว่า ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ร่วมเพียงแต่รู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังไม่รู้เรื่องความผิด เพราะโจทก์ร่วมยังไม่ได้ตรวจสอบว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินไปเมื่อใด โกงไปจำนวนเท่าใด และโกงอย่างไรโจทก์ร่วมเพิ่งตรวจพบว่าจำเลยทั้งสองกระทำทุจริตฉ้อโกงโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนทำบัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายลงวันที่ดังกล่าวไว้ด้วย อันเป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางณีราวรรณ์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 นำรายการที่ต้องใช้เงินพร้อมเช็คมาเบิกกับนางณีราวรรณ์ นางณีราวรรณ์ตรวจดูแล้วบอกว่าเงินยังเหลืออยู่ และสอบถามจำเลยที่ 1 ตรงๆ ว่าโกงเงินไปหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่พูดเอาแต่ร้องไห้ หลังจากนั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 รับว่าได้โกงเงินของโจทก์ร่วมไปจริง นางณีราวรรณ์จึงเขียนคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไว้พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อ ต่อมานางณีราวรรณ์ทำการตรวจสอบเอกสารย้อนหลังพบว่าเจ้าหนี้ของโจทก์ร่วมคือร้านเชียงใหม่ - ใจกว้าง มีบิลสำคัญการจ่ายเงินมาเบิกซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยจำเลยที่ 1 ทำเรื่องเบิกซ้ำด้วยการนำเช็คพร้อมใบสำคัญการจ่ายเงินมาให้นางณีราวรรณ์ลงลายมือชื่อในเช็คแล้วให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 นำไปเรียกเก็บเงิน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ร้านเชียงใหม่ - ใจกว้าง ตามบิลที่ส่งมาเรียกเก็บเงินแล้ว นางณีราวรรณ์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทปริญญาพนักงานสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2545 (ที่ถูก 2550) ขณะที่พันตำรวจโทปริญญาปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน นางณีราวรรณ์ประธานกรรมการของโจทก์ร่วมมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันทุจริตเอาเงินของโจทก์ร่วมไป พันตำรวจโทปริญญาทำบัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย ดังนี้ จากคำเบิกความของนางณีราวรรณ์ดังกล่าว นางณีราวรรณ์รู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมอ้างว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร ตามที่โจทก์ร่วมฎีกา แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความหรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ กรณีสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดนั้น ยังเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแห่งคดีไม่ครบถ้วน เพราะความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215 และมาตรา 225 เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คตามสำเนาเช็คแผ่นที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบโดยเบิกความลอยๆ ไม่อ้างพยานหลักฐานอื่นแม้แต่น้อยว่า จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวนดังกล่าวมามอบให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมไปแล้ว คำเบิกความลอยๆ ของจำเลยทั้งสองรับฟังไม่ได้เพราะการคืนเงินแก่บริษัทจำนวนมากโดยไม่มีหลักฐานแม้แต่น้อยเช่นนี้เป็นการแก้ตัวของผู้กระทำผิดที่ไม่รู้ว่าจะแก้ตัวอย่างไรเท่านั้น เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักทรัพย์เงินดังกล่าวของโจทก์ร่วมไป หาได้คืนแก่โจทก์ร่วมไม่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก จำคุกคนละ 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงิน 125,616 บาท ให้แก่โจทก์ร่วม นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1941/2550 คดีหมายเลขแดงที่ 2363/2553 คดีหมายเลขดำที่ 739/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2364/2553 คดีหมายเลขดำที่ 1034/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2365/2553 คดีหมายเลขดำที่ 2940/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2366/2553 คดีหมายเลขดำที่ 2499/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 2367/2553 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนคดีอื่นยังไม่มี คำพิพากษาให้ยกคำขอส่วนนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่